กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
เจ้าของผลงาน : นางเมทิกา ใหม่หลวงกาศ
ปีงบประมาณ : 2568
วันที่ประกาศ : 11/04/2568
บทคัดย่อ
การดูแลเด็กตั้งแต่อายุแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
การส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการวางรากฐานสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองและร่างกาย การศึกษาพฤติกรรมการใช้คู่มือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (Developmental Surveillance and Promotion Manual-DSPM) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์พัฒนาการเด็ก และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของผู้เลี้ยงดูหลักในการส่งเสริมพัฒนาการตามคู่มือ DSPM ต่อผลการตรวจพัฒนาการของเด็ก และศึกษาการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed method study) เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยการสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงดูหลัก ด้วยแบบสำรวจการใช้คู่มือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และตรวจพัฒนาการเด็กที่มารับบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด้วยคู่มือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (DSPM) จำนวน 350 คน เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) การดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยดำเนินการรวบรวมข้อมูลช่วง 1 ตุลาคม 2562 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา หาค่าความถี่ ร้อยละ และสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า ผู้เลี้ยงดูเด็กหลักส่วนใหญ่เป็นมารดา ร้อยละ 50.3 ช่วงอายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 31.4 ผู้เลี้ยงดูเด็กหลักที่อายุมากกว่า 60 ปี พบมากถึงร้อยละ 11.7 การศึกษาของผู้เลี้ยงดูเด็กหลัก ส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 44.6 ความเพียงพอของรายได้ครอบครัวที่เด็กอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ เพียงพอ ไม่เหลือเก็บ ร้อยละ 48.8 ผลการตรวจคัดกรองด้วยแบบประเมินพัฒนาการเด็ก DSPM พบว่า มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าร้อยละ 24.8 พบสงสัยล่าช้ามากที่สุดด้านการเข้าใจภาษา และด้านการใช้ภาษา พฤติกรรมของผู้เลี้ยงดูหลักในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กตามคู่มือ DSPM มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่อยู่กับผู้เลี้ยงดูหลักที่ได้รับคู่มือ DSPM อ่านคู่มือและใช้คู่มือพบผลตรวจพัฒนาการเด็ก มีพัฒนาการปกติมากที่สุดร้อยละ 81.5 การศึกษาระบบการบริหารจัดการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก พบว่า ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพโดยการฝึกอบรมฟื้นฟูในการใช้คู่มือ DSPM จากโรงพยาบาลแม่ข่ายในพื้นที่เป็นระยะ การบริหารจัดการคู่มือ DSPM ได้รับการจัดสรรอย่างเพียงพอ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้มีการสร้างเครือข่าย ร่วมกับศูนย์เด็กเล็กและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ช่วยติดตามและนัดเด็กในพื้นที่ไปตรวจพัฒนาการตามนัด มีการบันทึกข้อมูลพัฒนาการเด็กเข้าโปรแกรม Special PP (43 แฟ้ม) และสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์เด็กในพื้นที่ เพื่อใช้วางแผนติดตามพัฒนาการเด็กในช่วงอายุต่อไป รวมถึงนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำโครงการให้ความรู้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้กับผู้ปกครองในพื้นที่
คำสำคัญ : คู่มือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (DSPM), พัฒนาการเด็ก ,เด็กปฐมวัย,ผู้เลี้ยงดูเด็กหลัก, Child Project Manager,ผู้ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามคู่มือ DSPM
เลขที่รับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (EC) : 341/2562 จากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ กรมอนามัย
บทคัดย่อ ศึกษาพฤติกรรมการใช้คู่มือ DSPM -เมทิกา.pdf |
ขนาดไฟล์ 95KB
ดาวน์โหลด 0 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |