กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
เจ้าของผลงาน : นายภูเบศ ด้วงสงกา
ปีงบประมาณ : 2568
วันที่ประกาศ : 20/05/2568
บทคัดย่อ
ประชากรวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บและป่วยจากการทำงาน ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยที่ไม่เพียงพอ จากการศึกษาสถานการณ์การบาดเจ็บและป่วย จากการทำงานของบุคลากรของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2566 พบว่า บุคลากรของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก มีกรณีได้รับบาดเจ็บและป่วยจากกการทำงาน จำนวน 3, 1 และ 2 ราย ตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมาระบบการให้บริการอาชีวอนามัยยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงจากการทำงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยมีวัตถุประสงค์ ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัย และ 2) เพื่อประเมินผลรูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยที่พัฒนาขึ้นของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการจัดบริการอาชีวอนามัย จำนวน 139 ราย โดยการ วิจัยนี้ใช้กรอบแนวคิดของ Kemmis & McTaggart ซึ่งประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่ ระยะ 1) การวางแผน (Planning) 2) การพัฒนารูปแบบ (Action) 3) การสังเกตผล (Observing) นำรูปแบบการดำเนินงาน (Working Model) ที่พัฒนาขึ้นไปดำเนินการ และ 4) การสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflection) การเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความเสี่ยงจาการทำงาน, เครื่องมืออาชีวเวชศาสตร์, เครื่องมืออาชีวสุขศาตร์อุตสาหกรรม และ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ เกณฑ์และแนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงพยาบาลชุมชน (ศูนย์วิชาการ) โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงเนื้อหา และสถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก เป็นการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วย แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พยาบาลอาชีวอนามัย และบุคลากรที่ผ่านการอบรมด้านความปลอดภัย กิจกรรมการดำเนินงานมี 2 ส่วนหลัก คือ การดำเนินการด้านนโยบาย และการจัดบริการ โดยการจัดบริการมีทั้ง เชิงรุกและเชิงรับ และมีคลินิกอาชีวอนามัยรองรับบริการ สำหรับผลการประเมินรูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยของศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ที่พัฒนาขึ้น พบว่า รูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยดังกล่าว ทำให้เกิดผลลัพธ์ ผ่านตามเกณฑ์และมาตรฐานการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 5 องค์ประกอบ ได้แก่ การบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม การจัดบริการอาชีวอนามัยสำหรับบุคลากร การจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมเชิงรุก การจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมเชิงรับ และการดำเนินงานจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม โดยร้อยละ 100 ทุกองค์ประกอบผ่านเกณฑ์ในระดับดีเด่น ส่งผลให้มีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ดีร่วมกัน บุคลากร ไม่บาดเจ็บและป่วยจากการปฏิบัติงาน โดยปฏิบัติงานในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่
คำสำคัญ: รูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัย, ศูนย์อนามัย, ผลลัพธ์การจัดบริการอาชีวอนามัย
เลขที่รับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (EC) : เลขที่ COA No. 14/2024 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2024 จากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย
การพัฒนารูปแบบการจัดบริการอาชีวอนามัยขอ.pdf |
ขนาดไฟล์ 252KB
ดาวน์โหลด 5 ครั้ง
|
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย |