คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ด้วยยาคุมกำเนิดกึ่งถาวร

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

07.09.2563
261
0
แชร์
07
กันยายน
2563

การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นด้วยยาคุมกำเนิดกึ่งถาวร

          นางสาวพิชานัน หนูวงษ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก เปิดเผยว่าปัญหา การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มวัยรุ่น นับว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 2 ที่ประกอบไปด้วย 5 จังหวัด คือพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย จากข้อมูล ปี 2561 พบว่า อัตราการคลอดในหญิงอายุ 15 - 19 ปี ภาพรวมเขต38.83 ต่อประชากรหญิงอายุ 15 - 19 ปี พันคน (เป้าหมายอัตราไม่เกิน 40) อัตราการคลอดในหญิงอายุ 10 - 14 ปี สูงถึง 2.14 ต่อประชากรหญิงอายุ 10 - 14 พันคน (เป้าหมายอัตราไม่เกิน 1.3) มากที่สุดในประเทศไทย และอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ยังมีอัตราที่สูงพบร้อยละ 15.89 (เป้าหมายไม่เกินร้อยละ 10)

          มาตรการสำคัญที่สามารถลดปัญหาการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นได้ดีที่สุด คือ การคุมกำเนิดแบบถาวร มีทั้งชนิดแบบฝังและใส่ห่วงอนามัย ถ้าจะบอกว่า “ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงสุด” ก็คงจะไม่ผิด เพราะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้น้อยมากรองจาก “การไม่มีเพศสัมพันธ์” เท่านั้น โดยจะมีโอกาสล้มเหลว ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.05% (1 ใน 2,000 คน) จึงอาจระบุได้ว่า “ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีอัตราการล้มเหลวน้อยที่สุดในโลก” เลยก็ว่าได้ !!

          ยาคุมกำเนิดชนิดยาฝัง (Contraceptive implant หรือ Implantable contraception) เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง โดยการฝังฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำเป็นแท่งเล็กๆ เข้าไปที่ใต้ผิวหนังใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะค่อยๆซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกาย และไปทำการยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ของสตรี ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ตามมา จึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่สะดวกสบาย มีใช้มานานนับ 10 ปี ปัจจุบันมีการพัฒนาให้สะดวกขึ้นเหลือเพียงชนิดแบบ 1 แท่ง  คุมกำเนิดได้ 3 ปี และแบบ 2 แท่ง คุมกำเนิดได้ 5 ปี

          ยาคุมกำเนิดแบบฝัง คือ สะดวกสบาย เมื่อไปรับการคุมกำเนิดวิธีนี้ สามารถคุมกำเนิดได้นาน 3 - 5 ปี แล้วแต่ชนิดของยา ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน ลดโอกาสลืมกินยา หรือต้องไปฉีดยาคุม กำเนิดทุก 3 เดือน ลดโอกาสฉีดยาคลาดเคลื่อนไม่ตรงกำหนด ไม่มีผลข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นฝ้า ไม่มีผลต่อการหลั่งน้ำนมในหญิงที่ให้นมบุตร

          ผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?  อาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ประจำเดือนกะปริบกะปรอย พบมากที่สุด ไม่มีประจำเดือน หรือเกิดภาวะขาดประจำเดือน เป็นข้อดีได้ อาจมีน้ำหนักตัวขึ้น

          ใครคือสตรีที่เหมาะที่จะใช้ยาฝังคุมกำเนิด? สตรีที่เหมาะที่จะใช้ยาฝังคุมกำเนิด คือ ผู้ที่ลืมรับประทานยาบ่อย ๆ รวมทั้งยาเม็ดคุมกำเนิด ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลาประมาณ 3 - 5 ปี

          ใครคือสตรีที่ห้ามใช้ยาฝังคุมกำเนิด? สตรีที่ห้ามใช้ยาฝังคุมกำเนิด คือ โรคตับ เพราะผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิด อาจส่งผลให้เกิดตับอักเสบเพิ่มขึ้นได้ มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม เพราะยาฝังคุมกำเนิดอาจกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งลุกลามแพร่กระจาย  มีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ เพราะยาฝังคุมกำเนิดอาจกระตุ้นให้เลือดออกมากขึ้น มีภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก เพราะยาฝังคุมกำเนิดอาจรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวในภาวะเลือดออก

          โอกาสตั้งครรภ์หลังเอายาฝังคุมกำเนิดออกแล้ว เป็นอย่างไร? ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาฝังคุมกำเนิดดีมากดังได้กล่าวแล้วในตอน ต้น และเมื่อถอดยาออก ภาวการณ์เจริญพันธุ์ก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้ภายในระยะเวลา  ประ มาณ 1 - 12 เดือนขึ้นกับความแข็งแรงและอายุของสตรีท่านนั้น รวมทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการคุม กำเนิดก่อนหน้านี้ด้วย

          ประโยชน์อย่างอื่นของยาฝังคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง? ลดอาการปวดประจำเดือน ป้องกันการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ลดโอกาสเกิดอาการซีดจากการมีประจำเดือนมามากผิดปกติ จากมีการหนาตัวมากของเยื่อบุโพรงมดลูก

          รับการฝังยาคุมกำเนิดได้ที่ไหน? หากสตรีท่านใดตัดสินใจที่จะใช้การคุมกำเนิดโดยใช้ยาฝังคุมกำเนิด สามารถไปขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ ทั้งนี้การฝังยา ใช้เวลาเพียงประมาณ 10 - 20 นาที โดยไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล

          ค่าใช้จ่ายยาฝังคุมกำเนิดมากน้อยเพียงใด? หญิงไทยที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี (อายุถึง 19 ปี 11 เดือน 29 วัน) ทุกสิทธิการรักษา ที่อยู่ในภาวะหลังคลอดหรือหลังแท้งหรือต้องการคุมกำเนิด ทั้งกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สามารถรับบริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหน่วยบริการสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องผ่านระบบส่งต่อ

อ้างอิง

          1.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย,แนวทางการจัดบริการคุมกำเนิดสำหรับวัยรุ่นและหญิง-ชาย ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้แต่งงาน,พิมพ์ครั้งที่ 3 ,องค์การค้าของ สกสค.,2527,หน้า 22-23,65-67.

          2. MedThai,ยาฝังคุมกำเนิด 14 ข้อดี-ข้อเสีย & การฝังยาคุมกำเนิด .(Online)เข้าถึงได้จาก : www.medthai.com [14 ก.พ. 2019].

          3. สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. “ยาฝัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : hp.anamai.moph.go.th. [14 ก.พ. 2019].

          4. หาหมอดอทคอม. “ยาฝังคุมกำเนิด”. (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [14 ก.พ. 2019].

          5. Siamhealth. “การคุมกำเนิดโดยการฝังฮอร์โมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net Siamhealth. “การคุมกำเนิดโดยการฝังฮอร์โมน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [09 ต.ค. 2015].

          6. หญิงไทยที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี (อายุถึง 19 ปี 11 เดือน 29 วัน) ทุกสิทธิการรักษา ที่อยู่ในภาวะหลังคลอดหรือหลังแท้งหรือต้องการคุมกำเนิด ทั้งกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สามารถรับบริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหน่วยบริการสามารถให้บริการได้โดยไม่ต้องผ่านระบบส่งต่อ (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช. 3.64/9790 .2561:2)

เรียบเรียงข้อมูลโดยกลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น

 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน